การประชุมสัมมนาผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ ครั้งที่ 1/2567ณ ห้องประกายเพชร โรงแรมไดมอนด์ พลาซ่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี

วันพฤหัสบดี 7 พฤศจิการยน 2567
นางจารุวรรณ บุญโต ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาอุบลราชธานี อำนาจเจริญ มอบหมายให้ นายเอกลักษณ์ พลศักดิ์ และนายปิยะวุฒิ ศรีชนะ รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาอุบลราชธานี อำนาจเจริญ เข้าร่วมการประชุมสัมมนาผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ทั่วประเทศ ณ จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยมี ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นประธานเปิดการประชุมในวันนี้
.
ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า การประชุมในครั้งนี้ ถือเป็นการเปิดตัวโครงการ “พาน้องกลับมาเรียน นำการเรียนไปให้น้อง” OBEC Zero Dropout ที่เน้นมาตรการ “การศึกษาที่ยืดหยุ่น” ได้แก่ หนึ่งโรงเรียนสามรูปแบบ ที่ป้องกันเด็กเสี่ยงหลุดจากระบบ ศูนย์การเรียนต้นแบบ คือการจัดการศึกษาในกระบวนการยุติธรรมและเด็กขาดโอกาสทางการศึกษา และ และโรงเรียนมือถือ (Mobile School) แอพพลิเคชั่นการเรียนรู้ได้ทุกสถานที่ทุกเวลา (Anywhere Anytime) ซึ่งการประชุมครั้งนี้ เป็นการประชุมในรูปแบบ Onsite เป็นครั้งแรกของปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จากที่ได้พบกันในการประชุม Online ที่ผ่านมา เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2567 โดยท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุม และได้มอบนโยบายด้านการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 มีภารกิจที่ สพฐ. ต้องขับเคลื่อนตามนโยบายของรัฐบาลและของกระทรวงศึกษาธิการอย่างต่อเนื่อง และมีนโยบายที่เกิดขึ้นใหม่ เพื่อให้ทันกับการจัดการศึกษาในยุคของเทคโนโลยีดิจิทัล ยุคที่ต้องใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยมาปรับใช้ในการจัดการศึกษา โดยเฉพาะเรื่องของ AI (ปัญญาประดิษฐ์) ดังนั้น สพฐ. จึงได้มีการทบทวนและปรับปรุงนโยบายและจุดเน้นประจำปีงบประมาณ 2568 เพื่อให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษาในสังกัดทุกแห่ง ใช้เป็นกรอบแนวทางในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน และเตรียมพร้อมสำหรับการจัดทำคำขอตั้งงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 ต่อไป
.
โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 –2569 มีนโยบายและจุดเน้นในการจัดการศึกษาดังนี้

  1. ปลูกฝังความรักในสถาบันหลักของชาติ และน้อมนำพระบรมราโชบายด้านการศึกษาสู่การปฏิบัติ โดยการขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่สถานศึกษา นำพระบรมราโชบายด้านการศึกษาของในหลวงรัชกาลที่ 10 สู่การปฏิบัติ และปลูกฝังความรักในสถาบันหลักของชาติ
  2. จัดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ หน้าที่พลเมือง ศีลธรรม และประชาธิปไตย โดยพัฒนาการจัดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ หน้าที่พลเมือง ศีลธรรม และประชาธิปไตย ให้เกิดเป็นนวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลที่ทันสมัย
  3. ปรับกระบวนการจัดการเรียนรู้ให้หลากหลาย ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย โดยจะมีการปรับหลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้ระดับปฐมวัย (อนุบาล 1 – 3) และระดับประถมศึกษาตอนต้น (ประถมศึกษาปีที่ 1 – 3) ให้เป็นไปตามพัฒนาการและความสามารถตามช่วงวัย ส่งเสริมการจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Leaning) และการคิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุผล พัฒนาศักยภาพและคุณลักษณะผู้เรียนตามความถนัด ความสนใจ ด้วยการเรียนรู้อย่างมีความสุข ให้มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ด้านสิ่งแวดล้อม และมีจิตสำนึกในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตลอดจนส่งเสริม พัฒนา และต่อยอดแนวปฏิบัติที่ดีในการจัดการศึกษาของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา
  4. ส่งเสริมการอ่าน เพื่อเป็นวิถีในการค้นหาควานรู้และต่อยอดองค์ความรู้ที่สูงขึ้น โดยการส่งเสริมการอ่านเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต และพัฒนาความสามารถด้านการอ่านตามแนวทางการประเมิน PISA
  5. ส่งเสริม สนับสนุนกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน เพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนมีคุณลักษณะด้านการทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม การมีจิตอาสา ส่งเสริมกิจกรรมลูกเสือ เนตรนารี ยุวกาชาด ผู้บำเพ็ญประโยชน์ และกิจกรรมสภานักเรียน เพื่อให้ผู้เรียนเป็นพลเมืองที่ดี และแสดงออกอย่างสร้างสรรค์
  6. จัดการศึกษาแบบเรียนรวมสำหรับเด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษโดยการพัฒนาศักยภาพเด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ ด้วยสื่อและเทคโนโลยี�ที่ทันสมัย และพัฒนาองค์ความรู้ เจตคติและทักษะการจัดการเรียนรู้สำหรับครูผู้สอนและพี่เลี้ยงเด็กพิการ รวมทั้งปรับปรุงห้องเรียนและแหล่งเรียนรู้ให้เอื้อต่อเด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ
  7. จัดการศึกษาเพื่อความเป็นเลิศสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษโดยการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพผู้เรียนตามพหุปัญญา พัฒนาผู้มีความสามารถ ด้วยวิธีการที่หลากหลายตามความถนัดและความสนใจของผู้เรียน ตลอดจนส่งเสริมความเป็นเลิศของผู้มีความสามารถพิเศษ และ Soft Power เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
  8. เสริมสร้างความปลอดภัยของสถานศึกษาโดยปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพของสถานศึกษา ให้เป็นพื้นที่ปลอดภัย สร้างภูมิคุ้มกัน ปลูกฝัง และแก้ไขปัญหายาเสพติดในสถานศึกษา รวมทั้งมีระบบติดตามดูแลช่วยเหลือเพื่อไม่ให้เข้าสู่วงจรยาเสพติด ให้ความสำคัญในเรื่องความปลอดภัยของผู้เรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษา ในการพาผู้เรียนไปนอกสถานศึกษา ตลอดจนสร้างองค์ความรู้ในการรับมือกับภัย 4 กลุ่ม ให้แก่ผู้เรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษา และยังคงมีช่องทาง OBEC Safety Center ในการรับเรื่องร้องเรียน ร้องทุกข์
  9. เพิ่มโอกาสและสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา โดยการจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่นทั้งในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย เพื่อแก้ปัญหาเด็กที่อยู่นอกระบบการศึกษา เด็กตกหล่น และเด็กออกกลางคัน ให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาตามนโยบายรัฐบาล “Thailand Zero Dropout” ตลอดจนป้องกัน เฝ้าระวัง และดูแลช่วยเหลือเด็กกลุ่มเสี่ยง เด็กไร้สัญชาติ เด็กพื้นที่สูงในถิ่นทุรกันดารและพื้นที่เกาะ เพื่อไม่ให้หลุดจากระบบการศึกษา รวมทั้งเด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ เด็กพิการและเด็กด้อยโอกาสให้ได้รับโอกาสทางการศึกษา เพื่อให้มีทักษะในการดำเนินชีวิต และสามารถพึ่งตนเองได้
  10. พัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยพัฒนาผู้บริหารให้เป็นผู้นำเชิงกลยุทธ์ นำนโยบายสู่การปฏิบัติ พัฒนาสมรรถนะศึกษานิเทศก์ตามมาตรฐานตำแหน่ง
    พัฒนาสมรรถนะครู ด้านภาษาอังกฤษ ภาษาจีน เทคโนโลยีดิจิทัล และทักษะอื่น ๆ ที่จำเป็น รวมถึงการมีจิตวิญญาณความเป็นครู
    .
    ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา กล่าวต่ออีกว่า ขอให้พวกเราทุกคนได้รวมพลังกันเป็น “OBEC ONE TERAM” ในการขับเคลื่อนนโยบายการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการและของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้บรรุผลอย่างเป็นรูปธรรม มีประสิทธิภาพ โดยขอให้ทุกท่านนำไปขับเคลื่อนตามบริบทในพื้นที่ เพื่อให้เด็กฉลาดรู้ ฉลาดคิด ฉลาดทำตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ต่อไป

ใส่ความเห็น